เทคนิครถยนต์: ดูแลรถเก่าไม่ให้งอแง

เทคนิครถยนต์:  ดูแลรถเก่าไม่ให้งอแง

รถก็คล้ายกับคนนั่นแหละ พออายุเยอะเข้าหน่อยชักเป็นโรคใจน้อยขาดความอบอุ่น ต้องคอยดูแลเอาอกเอาใจ ดังนั้นหากไม่ต้องการให้รถงอแงก็ต้องให้ความสนใจดูแลกันมากเป็นพิเศษ

เทคนิครถยนต์: เปลี่ยนตามวาระเสื่อมสภาพ เมื่อรถผ่านการใช้งานมาระยะหนึ่ง จะเกิดการเสื่อมสภาพหรือหมดอายุการใช้งาน ซึ่งโดยทั่วไปทางบริษัทผู้ผลิตเค้าก็รู้และรับทราบดีอยู่แล้ว จึงมีการกำหนดระยะเวลาในการงานหรือเปลี่ยนอะไหล่เอาไว้ อย่างเช่นพวกสายพาน หัวเทียน ไส้กรอง ปั๊มน้ำ ฯลฯ อะไรเหล่านี้ เมื่อถึงเวลาเปลี่ยนก็ควรเปลี่ยนถึงแม้หน้าตาของมันจะยังดูดีอยู่ก็ตาม อย่าเสียดาย และหากสภาพมันยังดีก็เก็บเอาไว้ท้ายรถ สำหรับใช้เป็นอะไหล่สำรองเผื่อในกรณีฉุกเฉินก็ได้

ลองดูในสมุดคู่มือประจำรถ เค้ามีบอกว่าอะไรสมควรเปลี่ยนเมื่อไหร่ โดยจะแบ่งเป็นกำหนดระยะทางหรือเวลา แล้วแต่ว่าอย่างไรจะถึงก่อน นอกจากนี้ยังต้องพิจารณาควบคู่ไปกับการใช้งานด้วย อย่างพวกที่ใช้งานในเมืองเป็นประจำ เค้ากำหนดให้เปลี่ยนสายพานไทมิ่งทุก 100,000 กม. แบบนี้ไม่ต้องรอให้ครบ 100,000 กม.เพราะการใช้งานในเมืองระยะทางที่รถวิ่งถึงจะน้อยก็ตาม แต่ระยะเวลาในการใช้รถค่อนข้างเยอะ อีกทั้งความร้อยและความสกปรกจะบั่นทอนอายุการใช้งานของสายพานไทมิ่งให้หดสั้นลง ควรร่นระยะเวลาการเปลี่ยนให้เร็วขึ้นหน่อยเพื่อความชัวร์ชัก 80,000 – 90,000 กม. น่าจะเปลี่ยนสายพานกันได้แล้ว หรือพวกใช้รถน้อยที่ส่วนใหญ่ซื้อมาเช็ดมาล้างมากกว่าเอามาขับ อย่างกำหนดเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง 10,000 กม. หากรอให้ครอบ 10,000 กม. รถใช้เวลาวิ่งกันเป็นปีกว่า แบบนี้ไม่ต้องรอให้ครบ 10,000 กม. แค่ 6 เดือนก็สมควรเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องได้แล้ว ไม่ว่ารถจะวิ่งเท่าไหร่ก็ตาม เนื่องจากน้ำมันเครื่องถึงไม่ได้ใช้ก็มีการเสื่อมสภาพจากการทำปฏิกิริยากับอ๊อกซิเจนในอากาศ ยกเว้นจะใช้พวกน้ำมันเครื่องสังเคราะห์อันนี้ก็อยู่ได้นานหน่อยแต่ก็ไม่ควรเกิน 1 ปี

เทคนิครถยนต์: เปลี่ยนเพื่อป้องกันเป็นเรื่อง บางอย่างเราต้องเปลี่ยนถ่ายตามกำหนดเพื่อป้องกันการเสียหาย เช่น การเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเกียร์ น้ำมันเฟืองท้าย น้ำมันเพาเวอร์พวงมาลัย น้ำมันคลัทซ์ น้ำมันเบรก หรือการเปลี่ยนถ่ายน้ำในหม้อน้ำ อย่างเจ้าพวกน้ำมันคลัทซ์ น้ำมันเบรกนี้จะมีคุณสมบัติเด่นเรื่องการดูดความชื้นในอากาศ และเกิดความชื้นขึ้นได้จาการทำงาน เจ้าความชื้นหรือน้ำที่ปะปนในน้ำมันคลัทซ์ น้ำมันเบรก จะทำให้กระบอกสูบของแม่ปั๊มเป็นสนิม หรือเป็นสนิมขุมแบบที่เค้าเรียกวันว่า ตามด ซึ่งจะทำให้ผิวของกระบอกแม่ปั๊มสึกหรอเสียหาย และยางแม่ปั๊มชำรุดเกิดการรั่วในระบบเบรก อีกทั้งประสิทธิภาพในการหยุดรถก็น้อยลงด้วย น้ำในระบบระบายความร้อนก็เช่นเดียวกัน มันมีอายุการใช้งานมิฉะนั้นประสิทธิภาพในการป้องกันการต่างศักย์การป้องกันสนิมจะลดลง ซึ่งอาจจะสร้างปัญหาสึกกร่อนให้กับหัวเสียบท่อยางน้ำ ตัวปั๊มน้ำ ตลอดจนชิ้นส่วนเครื่องยนต์


เทคนิครถยนต์: เปลี่ยนเมื่อมีสัญญาณเตือน พวกรถที่จะเกิดการเสียขึ้นมา ส่วนใหญ่แล้วจะมีสัญญาณเตือนกันล่วงหน้าให้รับทราบจึงต้องคอยสังเกต เช่น น้ำมันเบรกในกระปุกเติมยุบตัวลงไปมาก แบบนี้แสดงว่าอาจมีการรั่วในระบบเบรก หรือผ้าเบรกเริ่มบางแล้ว และเวลาเหยียบเบรก มีความรู้สึกว่าเหยียบเบรกแล้วรถไม่ค่อยหยุด ต้องกดแรงเหยียบลึกกว่าปกติ แบบนี้แสดงว่าผ้าเบรคหลังห่างหรือใกล้หมด น้ำในถังพักน้ำหายเยอะ ต้องเติมกันบ่อยกว่าปกติแสดงว่ามีการรั่วในระบบน้ำหล่อเย็น ฝาปิดหม้อน้ำชำรุดเสื่อมสภาพ หรือปะเก็นฝาสูบแตก ความร้อนขึ้นสูงกว่าปกติควรตรวจเช็คการทำงานของพัดลม ไม่ว่าจะเป็นพัดลมเครื่องที่ฟรีคลัทซ์เสื่อม หรือพัดลมไฟฟ้าที่มอเตอร์เสื่อมทำให้หมุนช้าลงจนไม่เพียงพอต่อการระบายความร้อน หรือมอเตอร์เสีย เซ็นเซอร์เสีย สายไฟหลุดเลยไม่ยอมหมุน บางทีก็เกิดขึ้นจากตัววาล์วน้ำลมยางล้อใดล้อหนึ่งมีแรงดันต่ำกว่าล้ออื่นมากเกินกว่า 2 ปอนด์ แบบนี้แสดงว่าเกิดการรั่วซึมในยางเส้นนั้นแล้ว เวลาขับรถพบว่ามีปัญหาเรื่องการควบคุมทิศทางของรถ การทรงตัว และมีเสียงดัง แสดงว่ามีปัญหากับระบบพวงมาลัย ศูนย์ล้อ ตลอดจนระบบช่วงล่าง ควรรีบตรวจเช็คโดยเร็ว เวลาสตาร์ทเครื่องยนต์ตอนเช้าที่มีอากาศเย็น มีความรู้สึกว่าหลังจากบิดหรือกดปุ่มสตาร์ทแล้ว ตัวมอเตอร์สตาร์ทไม่ค่อยอยากหมุน อย่างนี้ปัญหาน่าจะเกิดขึ้นจากแบตเตอรี่ หรือตัวมอเตอร์สตาร์ทเอง มีไฟเตือนติดโชว์บนแผงหน้าปัดเมื่อไหร่อย่าวางใจ ให้รีบขับรถไปพบช่างทันที เพื่อตรวจเช็คแก้ไขก่อนจะลามเป็นเรื่องใหญ่หรือก่อให้มีอุบัติเหตุเกิดขึ้น สังเกตร่องรอยการรั่วซึมของน้ำมันต่าง ๆ ทั้งในห้องเครื่อง และใต้ท้องรถ ร่อยรอยของการั่วซึมเหล่านี้จะเป็นสัญญาณเตือนให้ทราบว่ามีการชำรุดของอุปกรณ์บางอย่างแล้ว

การดูแลรักษารถที่มีอายุเยอะต้องคอยตรวจเช็คถี่และเร็วขึ้น รวมทั้งเพิ่มความเอาใจใส่ให้มากกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นการตรวจเช็ค น้ำในหม้อน้ำ น้ำกลั่นในแบตเตอรี่ น้ำมันคลัทซ์ น้ำมันเกียร์ ลมยาง ยางหุ้มเพลาขับ ยางหุ้มแรคพวงมาลัย ฯลฯ ทั้งนี้เนื่องจากรถอายุเยอะระบบการทำงานเสื่อมถอย มีการสึกหรอสูง จึงต้องดูแลกันใกล้ชิดเป็นพิเศษ เวลามีปัญหาขึ้นมากจะได้รู้ก่อนจะเป็นเรื่องใหญ่

แต่บางอย่างบางปัญหาก็ไม่จำเป็นต้องเข้าศูนย์ให้ราคาแพงหรือต้องรถคิวเป็นวัน เพราะหลายอย่างที่ทางศูนย์ก็ส่งรถออกไปหาอู่ข้างนอกหรือเรียกตัวช่างข้างนอกมาทำ เช่นระบบแอร์ ระบบไฟฟ้า หากมีโอกาสเลือกได้ก็ลดค่าใช้จ่ายได้เยอะหากใช้บริการร้านนอกศูนย์แทน แถมบางอย่างก็ไม่ต้อง “เปลี่ยนยกชุด” ในทันทีทันใด ช่างข้างนอกอาจถ้อยทีถ้อยอาศัยรู้ปัญหาสภาพคล่องของเจ้าของรถ จึงอาจแนะนำให้เปลี่ยนเป็นบางอย่างเพื่อใช้ไปก่อน  แต่ทั้งนี้เจ้าของรถก็ต้องรู้และเข้าใจด้วยว่า “ใช้ไปก่อน” ก็คือใช้ไปก่อน อีกไม่นานเท่าใดก็จะต้องซ่อมกันอีก ขึ้นชื่อว่ารถเก่าก็ต้องทำใจว่ามันไม่ใช่รถใหม่ที่จะต้องทำแค่เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องหรือตรวจเช็คเล็ก ๆ น้อย ๆ ตามระยะเท่านั้น

รถเก่าต้องใช้งานทะนุถนอมไม่ใช้รอบเครื่องสูงเกินจำเป็น และไม่ใช้รอบเครื่องสูงติดต่อกันนาน ๆ อย่าไปลุยทางขรุขระโดยไม่จำเป็น และหากจำเป็นต้องลุยไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ยามลุยก็เบา ๆ หน่อยละกัน ไปให้ช้ากว่าปกติสักเล็กน้อย ว่ากันไปเรื่อย ๆ อย่ารีบร้อน เดี๋ยวกระเป๋าร้อนตามไปด้วยแล้วจะเศร้า

เทคนิครถยนต์