เทคนิครถยนต์: รู้ลึกเรื่องล้อรถยนต์
ถ้าจะกล่าวถึงรถสวยสักคันหนึ่งที่สามารถดึงดูดสายตามของผู้คนได้มาก ๆ นอกจากสีสัน เส้นสายที่ลงตัวทั้งของตัวรถและการประดับตกแต่งอื่น ๆ เช่น แอโร่พาร์ทต่าง ๆ แล้วก็มี “ล้อ” นี่เองที่จะช่วยเสริมภาพลักษณ์ให้กับรถได้ทั้งทางบวกและทางลบ เพราะทุกองค์ประกอบของตัวล้อ ไม่ว่าจะเป็นขนาด, ลวดลาย, และสีสัน (ของล้อที่เปลี่ยนมา) ย่อมบ่งบอกได้ถึงรสนิยมของผู้กุมบังเหียนได้เป็นอย่างดี และเป็นสิ่งแรกที่เจ้าของรถมักจะนิยมเปลี่ยนกันมากที่สุด นอกจากแบรนด์, รุ่น ลวดลาย, ขนาด และราคาแล้ว ยังมีอะไรอีกหลายอย่างที่ผู้ใช้ส่วนใหญ่ยังไม่รู้
[เทคนิครถยนต์] - ทำไมถึงเรียกว่า “ล้อแม็ก”
คนส่วนใหญ่นิยมเรียกล้อที่เป็นโลหะผสมเหล่านี้ว่า “ล้อแม็ก” ซึ่งจริง ๆ แล้วเป็นชื่อของล้อที่ผลิตจาก “แม็กนีเซี่ยมอัลลอย” แท้ ๆ ในยุคแรก ๆ ของกระทะล้อที่ต้องการหลุดพ้นจากข้อจำกัดของล้อเหล็กนั่นเอง ตามบันทึกของโลหะเบาชนิดนี้ระบุว่า รถยนต์รุ่นแรกของโลกที่ได้ประเดิมกับล้อโลหะผสมชนิดนี้ (แม็กนีเซี่ยมอัลลอย) ก็คือ CHEVROLET Corvette SS ตัวแข่งในปี 1975 และชื่อที่ใช้เรียกล้อแม็กนีเซี่ยม ก็คือ Mag Wheel หรือ “ล้อแม็ก” แต่ด้วยความที่แม็กนีเซี่ยมเป็นโลหะที่มีราคาค่อนข้างแพง ซ่อมแซมยาก และติดไฟ การจะนำมาผลิตเป็นกระทะล้อสำหรับรถที่ผลิตเป็นจำนวนมาก ๆ จึงดูเหมือนจะเป็นการสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ จึงจำเป็นต้องเสาะแสวงหาโลหะชนิดอื่นที่มีคุณสมบัติด้านความแข็งแรง และน้ำหนักเบาที่ (ค่อนข้าง) ใกล้เคียงกันในราคาแบบบ้าน ๆ ช่วยลดต้นทุนสำหรับผู้ผลิตและลดค่าตัวให้ผู้ซื้อ ซึ่งนั่นไม่มีอะไรจะเหมาะสมไปกว่า “อลูมิเนียมอัลลอย” ที่ถึงแม้ว่าจะเบาสู้แม็กนีเซี่ยมไม่ได้ แต่ก็มีความแข็งแรงและราคาถูกว่าหลายเท่าตัว ส่วนชื่อที่ใช้เรียกกระทะล้อแต่งทั้งหลาย ว่า “ล้อแม็ก” ก็ยังคงติดปากมาจนถึงทุกวันนี้ ถึงแม้จะไม่ใช่แม็กนีเซี่ยมอัลลอยแท้ ๆ ก็ตาม
ไม่ว่าจะเป็นล้อชนิดใด ๆ ยังไงก็ต้องมี Unsprung Weight เกิดขึ้นกับช่วงล่างอยู่แล้ว แล้วจะไม่ทำความรู้จักกับที่มาที่ไปของชื่อนี้เสียหน่อยหรือ Unsprung Weight หรือ “น้ำหนักนอก (หรือใต้)สปริง” คือ น้ำหนักของชิ้นส่วนที่สปริงหรือระบบรองรับน้ำหนักไม่ได้รองรับที่เกิดจากการรวมตัวของอุปกรณ์ส่วนควบทั้งหลายแหล่ อันประกอบไปด้วยล้อ, ยาง, ระบบเบรก, ระบบบังคับเลี้ยว และชิ้นส่วนต่าง ๆ ของช่วงล่าง ถ้าสามารถลดน้ำหนักส่วนของ Unsprung Weight นี้ได้ ก็เท่ากับเพิ่มประสิทธิภาพให้กับช่วงล่างไปในตัว
ยกตัวอย่าง หากเราสามารถกำจัดน้ำหนักส่วนเกินของช่วงล่างไปได้ 1 กก. นั่นเท่ากับว่าเราสามารถเพิ่มแรงขับเคลื่อนให้กับตัวรถเสมือนลดน้ำหนักรวมของตัวรถได้ถึงประมาณ 15 กก. และหากเราสามารถลดน้ำหนักแต่ละล้อไปได้ 1 กก. ทั้ง 4 ล้อล่ะ นั่นหมายถึงน้ำหนักที่ตัวรถต้องแบกภาระนั้นหดหายไปถึง 60 กก. เลยทีเดียว [เทคนิครถยนต์]
กระทะล้อมีหลากหลายรูปแบบตามแต่การออกแบบของผู้ผลิต วัสดุที่นำมาผสม รวมไปถึงความยากง่ายของลวดลายและขั้นตอนการผลิต คงเข้าใจแล้วนะครับว่าทำไมล้อลายคล้าย ๆ กันแต่ราคาต่างกันลิบลิ่ว..
[เทคนิครถยนต์]