เทคนิครถยนต์ : รถใหม่ป้ายแดงเคลมอย่างไร ตอนที่ 2


[เทคนิครถยนต์] รถใหม่ป้ายแดงเคลมอย่างไร ตอนที่ 2

หากรถใหม่ป้ายแดงที่อุตส่าห์หาเงินไปซื้อมาใช้ แทนที่จะได้โก้สมใจนักกลับกลายเป็นสามวันดี สี่วันซ่อม ปรับปรุงเล็ก ๆ น้อย ๆ แล้วอาการที่บกพร่องหายไปก็ยังดี แต่นี่เข้าศูนย์จนแทบจะต้องไปกินนอนอยู่ที่นั้นแล้วก็ยังไม่หาย แบบนี้ปวดใจแน่นอนโดยเฉพาะการซ่อมเกี่ยวกับเครื่องยนต์ในลักษณะต่าง ๆ ซึ่งถือเป็นสาระสำคัญของรถ แบบนี้เข้าลักษณะการขายทรัพย์ซึ่งชำรุดบกพร่อง ทำให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมที่จะใช้ประโยชน์จากรถยนต์ใหม่ ซึ่งทางบริษัทผู้ขายจะต้องรับผิดชอบ



ในประเทศไทยมีกรณีผู้บริโภคฟ้องร้องบริษัทเพื่อขอคืนรถและขอเงินคืน ซึ่งบางกรณีศาลก็ได้พิพากษาให้ผู้บริโภคเป็นฝ่ายชนะคดี จึงทำให้ผู้บริโภคหลายต่อหลายคนมั่นในว่าเรื่องของการเปลี่ยนหรือคืนสินค้าที่ชำรุดบกพร่องนั้น เป็นสิ่งที่กระทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่ว่าของที่ซื้อมานั้นจะมีราคาเท่าใดก็ตาม ซึ่งหลักเกณฑ์ในการเรียกร้องสิทธิ์นั้นก็มีข้อกำหนดด้วยกันมากมาย เช่น ผู้ซื้อจะต้องใช้สิทธิ์ฟ้องร้องภายในหนึ่งปี นับตั้งแต่วันที่รู้ว่ารถของตนเกิดข้อบกพร่องและได้ไปแจ้งให้ทางผู้ขายได้รับทราบ สำหรับผู้บริโภคโดยทั่วไป การเรียกร้องให้บริษัทต้องรับผิชอบจนถึงฟ้องร้องเป็นคดีความนั้นก็เป็นวิธีการที่ไม่ง่ายนัก เพราะต้องใช้เงิน ใช้ความรู้ ใช้เวลามากพอสมควร อย่างไรก็ตามมีหลายกรณีที่การแก้ไขปัญหาจบลงโดยไม่ต้องถึงศาลซึ่งจากการเก็บสถิติของ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เขาเคยเก็บไว้พอที่จะสรุปแนวทางเบื้องต้นในการเรียกร้องสิทธิ์ได้ดังนี้

[เทคนิครถยนต์] 

1.       เก็บหลักฐานทุกอย่างเกี่ยวกับการซ่อมแซมรถใหม่ของคุณไว้ เพื่อเป็นหลักฐานยืนยันถึงความชำรุดบกพร่องที่เกิดขึ้นจริง 

2.       ในกรณีที่ความชำรุดบกพร่องนั้นมีมาก อย่างที่ภาษากฎหมายเขาว่า “อันเป็นเหตุให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติก็ดี ประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญาก็ดี “ เช่น รถใหม่ป้ายแดงใช้ได้ไม่ถึงเดือน มีปัญหาเกี่ยวกับเครื่องยนต์เข้าศูนย์หลายครั้งก็ยังแก้ปัญหาไม่ได้เสียเวลาทำมาหากิน รถก็ไม่ได้ใช้ แบบนี้ไม่จำเป็นต้องทนให้เขาซ่อมแล้วซ่อมอีก

3.       ดำเนินการเจรจา เพื่อให้บริษัทผู้ขายรถยนต์รับผิดชอบแก้ไขปัญหาโดยเร็วที่สุด และควรทำเป็นลายลักษณ์อักษร ส่งถึงผู้มีอำนาจหน้าที่ในบริษัทโดยตรง เพื่อจะได้มีหลักฐาน และเป็นการแสดงความตั้งใจของเราที่ต้องการให้บริษัทแก้ไขปัญหา หากเป้าหมายของคุณคือการขอเปลี่ยนรถใหม่ หรือขอเงินคืน อย่าเสียเวลาเจรจาปากเปล่ากับพนักงานขาย ฝ่ายลูกค้าสัมพันธ์ หรือช่างของศูนย์บริการเพราะการตัดสินใจว่าจะเปลี่ยนรถหรือคืนเงินไม่ได้อยู่ในอำนาจการตัดสินใจของเขาเหล่านั้น และป่วยการที่จะพยายามขอเจรจากับผู้มีอำนาจด้วยการขอเข้าพบหรือโทรศัพท์มาติดต่อ เพราะจะถูกกัน การส่งเอกสารต้องเรียนทางไปรษณีย์จึงเป็นวิธีการที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพที่สุดในการแก้ปัญหาลักษณะนี้ และควรส่งโดยเป็นจดหมายลงทะเบียนแบบตอบรับ เพื่อจะได้มีหลักฐานยืนยันชัดเจนว่าหนังสือของคุณส่งถึงมือของผู้รับแน่นอน นอกจากจะส่งหนังสือนี้ให้กับทางบริษัทผู้ขาย คู่สัญญาของคุณแล้ว ก็ควรจะทำสำเนาส่งถึงผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ได้แก่ บริษัทแม่ของเจ้าของผลิตภัณฑ์ บริษัทไฟแนนซ์ที่คุณเช่าซื้อรถ (ในกรณีที่ไม่ได้ซื้อเงินสด) รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคทั้งภาครัฐ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และภาคเอกชนอย่างมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อที่ทุกฝ่ายที่จะได้ทราบเรื่อง โดยเฉพาะบริษัทเจ้าของผลิตภัณฑ์ ซึ่งจะมีส่วนในการตัดสินใจว่าจะให้ตัวแทนจำหน่ายของเขารับผิดชอบต่อลูกค้าอย่างไร

4.       เนื้อหาในเอกสารที่ส่งไปจะต้องพูดถึง ความชำรุดบกพร่องที่เกิดขึ้นกับรถยนต์ของคุณ พร้อมกับสำเนาหลักฐานการซ่อมต่าง ๆ เพื่อยืนยันข้อเท็จจริง และคุณต้องการให้บริษัทรับผิดชอบอย่างไร จะให้เปลี่ยนรถใหม่ หรือจะขอเงินคืน ควรระบุให้ชัดเจนและควรกำหนดระยะเวลาให้ทางบริษัทตัดสินใจ เช่น ภายใน 7 วัน หรือ 15 วันนับแต่ได้รับจดหมาย

5.       เมื่อเจรจากับคู่กรณีไม่เป็นผล ก็มีหลายกรณีที่ผู้บริโภคต้องใช้พลังทางสังคมเข้ามาช่วย โดยการให้ข่าวกับสื่อมวลชนหรือปิดป้ายประท้วยรอบรถคันที่มีปัญหาแล้วขับไปในที่ต่าง ๆ เพื่อให้ข้อมูลกับสาธารณาชนซึ่งก็เป็นสิทธิที่ผู้บริโภคจะสามารถกระทำได้ ในลักษณะให้ประสบการณ์ของตนเป็นอุทาหรณ์เตือนผู้บริโภคอื่น ๆ ให้เกิดความระมัดระวัง ไม่ใช่เป็นการใส่ความให้บริษัทได้รับความเสียหาย ความสำเร็จของการแก้ปัญหานั้นขึ้นอยู่กับความมุ่งมั่น ไม่ท้อถอยของผู้บริโภคเป็นสำคัญ เพราะการใช้สิทธิ์ขอเปลี่ยนรถใหม่ หรือขอเงินคืนนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องพบกับอุปสรรคบ้าง แต่เมื่อผู้บริโภคลุกขึ้นมาใช้สิทธิ์เช่นนี้กันมากขึ้น ก็เป็นวิธีกาหนึ่งที่จะช่วยยกระดับของความรับผิดชอบของผู้ประกอบการธุรกิจรถยนต์ในบ้านเราให้สูงขึ้น

[เทคนิครถยนต์]