เทคนิครถยนต์: ดูแลท่อหายใจแบตเตอรี่ไม่ให้ผุ

เทคนิครถยนต์: ดูแลท่อหายใจแบตเตอรี่ไม่ให้ผุ

            แหล่งเก็บไฟฟ้าในรถยนต์หรือแบตเตอรี่โดยมากอยู่ในฝากระโปรงหน้ารถ แต่บางคันอยู่ด้านท้ายหรือโดนจับเอาเข้ามาไว้ในรถ (เช่นรถแข่ง) ซึ่งต้องมีมาตรการควบคุม เพื่อความปลอดภัยเพิ่มขึ้น

            ปกติแบตเตอรี่ที่ใช้ ๆ กันทั่วไปแบบเติมน้ำกลั่นหรือน้ำกรดก็แล้วแต่ เมื่อมีการชาร์จไฟจากไดชาร์จเข้ามาที่ตัวแบตเตอรี่หรือมีการจ่ายไฟจากแบตเตอรี่ออกไปนั้น ภายในแบตเตอรี่จะมีแผ่นตะกั่วที่ทำปฏิกิริยากับของเหลวภายในที่กล่าวมา และอาจจะเกิดฟองอากาศขึ้นได้นั้น เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้บรรดาแบตเตอรี่จะต้องมีรูหายใจ ส่วนมากมักทำไว้ที่ฝาสำหรับเติมน้ำกลั่น หรือบางรุ่นอาจจะมีรูออกมาที่ด้านข้างฝาบนไอ้เจ้ารูนี้แหละที่จะปล่อยไอระเหยกัดกร่อนออกมา เพราะของเหลวภายในมักมีสถานะเป็นกรดซะด้วย เป็นที่มาสำหรับชาวมือซนที่จะทำให้ไอระเหยนี้เดินทางออกไปเป็นที่เป็นทางไม่ลอยละล่องออกมาทางฝา
            ก่อนเตรียมอุปกรณ์ต่าง ๆ มาดูสเป็คกันหน่อย รูสำหรับไอระเหยเพราะแต่ละรุ่นแต่ละยี่ห้อนั้นฝาปิด-เปิดในการเติมน้ำกลั่นจะไม่เหมือนกัน ฝาที่มีรูหมิ่นเหม่กับขอบหรือส่วนที่ไว้ใช้สำหรับขันเปิด อาจจะไม่สามารถทำได้ เนื่องจากเมื่อเราต่อท่อหรือขยายขนาดรูแล้ว รูจะเสียหรือใส่ข้อต่อไม่ได้หรือใส่แล้วเปิดฝาไม่ได้ดูตัวอย่างในรูปละกันนะ ถ้าเราจะเตรียมทำท่อสำหรับให้ไอจากแบตเตอรี่นี้เดินทางไปสู่สภาวะภายนอกตามที่เราต้องการก็ไปหาซื้ออุปกรณ์ต่าง ๆ ได้เลย

            เข้าใจกันก่อนนะว่าน้ำกรดส่วนมากจะเป็นอันตราย และทำปฏิกิริยากับโลหะ ฉะนั้นของที่จะต้องใช้จึงต้องไปร้านขายปลาเพื่อซื้อสายท่ออากาศสำหรับใช้กับตู้ปลา สายอ่อน ๆ ใส ๆ เมตรละไม่กี่บาท ท่อทางสำหรับต่อแบบ 3 ทางซัก 5 ตัวและสำหรับต่อตรงอีกซักตัว ส่วนท่ออากาศจะใช้กี่เมตรก็ตามสะดวกเลยว่าจะเอาปลายไปปล่อยส่วนไหน ถุงมือยางมา 1 คู่ ป้องกันผิวหนังซะหน่อย คัตเตอร์คม ๆ 1 อัน หรือสว่านมือตัวเล็ก ๆ ก็ได้

            ถอดขั้วแบตเตอรี่ก่อนทีละขั้ว แล้วปลดสายออกจากกันทั้ง 2 สายและต่อด้วยการปลดเหล็กคาดด้านบนแบตเตอรี่อุปกรณ์การถอดจะมีให้ในชุดอุปกรณ์มาตรฐานติดรถทั่วไป เพราะน็อตแถบ ๆ นั้นจะเป็นน็อตเบอร์ 10-12 ยกแบตเตอรี่ออก อย่าเอียงอย่าคว่ำเป็นอันขาด เพราะอาจจะทำให้ของเหลวภายในไหลออกมาและเป็นอันตรายได้ เมื่อเอาออกมาแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็เตรียมใส่ถุงมือยางที่เตรียมมาเพื่อความปลอดภัย เปิดฝาออกให้หมดทุกฝาและอย่าเอาไฟแช็กไปจุดส่องดูระดับน้ำภายใน ไอระเหยอาจจะติดไฟได้ เอาฝาไปล้างน้ำให้สะอาด ของเหลวภายในแบตเตอรี่จะมีสภาพเป็นกรด ฉะนั้นระวังอย่าให้ถูกร่างกาย (ถ้าเผอิญโดนให้รีบล้างด้วยน้ำสะอาดทันที)

            สังเกตที่ฝาปิดจะมีรูสำหรับไอระเหยให้ล้างส่วนที่เป็นรูนี้ด้วย ล้างให้สะอาดเป็นที่แน่ใจแล้วก็ล้างถุงมือด้วยครับ นำฝาไปตากให้แห้ง แล้วก็เอาฝามาจัดการขยายรูซะ ในฝาบางรุ่นอาจจะไม่เหมือนกัน ตัวอย่างที่เอามาครั้งนี้สามารถเปิดด้านใต้ได้และภายในมีช่องกั้นไม่ให้น้ำกระเด็นออก ใช้คัตเตอร์ขยายรูโดยเอาข้อต่อมาเทียบและรูที่ขยายนั้นจะต้องเล็กกว่าข้อต่อนิดหน่อย เพราะถ้ารูใหญ่แล้วจะหลวม ข้อต่อประเภทนี้จะไม่แข็งมาก เราสามารถกดเข้าไปในรูที่มีขนาดเท่ากันหรือเล็กกว่านิดหน่อยได้ เป่าเศษพลาสติกที่ตัดออกจากฝาและใส่ข้อต่อ เมื่อทำครบทุกฝาแล้วก็ใส่กลับเข้าไปที่แบตเตอรี่ การใส่นั้นให้ตัวที่เป็นข้อต่อตรงอยู่ริมด้านใดด้านหนึ่งแล้วแต่ความเหมาะสม คือ อยากให้ปลายท่อฝั่งปล่อยออกอยู่ฝั่งไหนก็เอาไว้ฝั่งตรงกันข้าม วัดระยะ แล้วตัดสายท่อหายใจต่อ ๆ กันไปเรื่อย ๆ กะระยะให้ยาวหน่อยก็ได้เผื่อต้องหลบส่วนต่าง ๆ โดยเฉพาะส่วนมากคือ ฝาคู่กลาง เพราะระหว่างคู่นี้มักจะต้องมีเหล็กคาดแบตเตอรี่อยู่ด้วยก็ตัดสายให้ยาวกว่าหน่อยเผื่อสำหรับอ้อมหลบเหล็กคาดเท่านี้ก็เป็นอันเสร็จพิธี

            จากนั้นเอากลับไปติดตั้งตามเดิมแล้วสายที่ปล่อยทิ้งนั้นก็หาที่ปล่อยตามความเหมาะสม แต่ต้องปล่อยไว้ให้ไกลโลหะ เพราะอย่างที่กล่าวว่าของเหลวภายในมีอานุภาพกัดกร่อน ปล่อยไปแถวที่อากาศถ่ายเทได้สะดวกก็จะเป็นการดี เท่านี้ก็ลดการผุได้อีกหน่อยแล้วละ