เคล็ดลับซื้อรถมือสอง รวมเทคนิคและวิธีการเลือกซื้อรถมือสอง คลิก!! More

“ความเร็ว” เพชฌฆาตแห่งท้องถนน



“ความเร็วเป็นมูลเหตุที่นำไปสู่อุบัติเหตุอันดับ 1 ของประเทศไทย และแม้แต่ในต่างประเทศก็เช่นกัน อันตรายจะแฝงเร้นอยู่ในความเร็วแทบทุกยุทธการไม่ว่าจะขับทางตรง ทางโค้ง ขึ้นเขา-ลงเขา ถอยหน้า ถอยหลัง ฯลฯ และส่วนมากจะมีคำห้อยท้ายประจำประโยคว่า “...ด้วยความเร็วสูงหรือซิ่ง” เสมอ ๆ เช่น ...ขณะขับรถลงเขาด้วยความเร็วสูง หรือ ...ซิ่งแหลกบนทางด่วน เป็นต้น ความเร็วสร้างแรงกระทำทางธรรมชาติมากมาย ไม่ว่าจะเป็นแรงเหวี่ยงหนีศูนย์กลางหรือโมเมนตัม รู้ไว้ด้วยว่าเวลาในการตัดสินใจจะสั้นลง เช่น ผู้ขับขี่ขับรถด้วยอัตราความเร็ว 90 กม./ชม. จะมีเวลาในการแก้ไขสถานการณ์เพียง 4 วินาที สำหรับระยะทางที่มีอยู่ 100 เมตร แต่ถ้าลดความเร็วลงเหลือ 40 กม./ชม. เขาจะมีเวลาแก้ไขสถานการณ์นานถึง 9 วินาที มากกว่ากันถึง 5 วินาที และนี่คือโอกาสรอดมิใช่หรือ เวลาน้อย การแก้ปัญหาก็ยากกว่า ไม่ว่าจะเป็นการเบรกหรือการหยุด แถมการสึกหรอของเครื่องยนต์ก็สูงกว่า”

            อุบัติเหตุที่เกิดจากความเร็วเป็นพื้นฐานมักมีความรุนแรงเป็นตัวตั้งเสมอ ความเร็วมีความสามารถในการทำลายสูง คนเดินเท้าที่ถูกรถชนด้วยความเร็วที่เกินกว่า 60 กม./ชม. มีโอกาสรอดไปถึงโรงพยาบาลค่อนข้างน้อย และคงไม่ต้องไปเลยถ้าความเร็วถึง 120 กม./ชม. เชื่อหรือไม่เชื่อไม่ว่ากัน

            ความเร็วตามกฎหมายเป็นเพียงแค่ “พิกัด” ไม่ใช่เป้าหมายที่ผู้ขับขี่จะต้อง “ทำให้ได้” หรือ “ต้องทำให้ถึง” เพราะแท้ที่จริงแล้วเขากำหนดมาจากพื้นฐานการขับขี่ที่ทุกอย่างดีประดุจดั่งฝัน กล่าวคือ รถดี-ยางดี-เบรกดี-ถนนดี-ทัศนวิสัยดี-คนขับดี ต้องถามตัวเองว่าเรามีดีอย่างนี้ทุกวันหรือไม่ แล้วอัตราใดล่ะที่ไว้ใจได้

            มีอัตราเดียวเท่านั้นที่เชื่อถือได้ มันมีชื่อเป็นนิรันดร์ว่า “อัตราความเร็วที่ปลอดภัย” เป็นอัตราที่ผู้ขับขี่พึงใช้ให้สอดคล้องตามสถานการณ์ ด้วยสมองและความรอบคอบ ซึ่งมีพื้นฐานสำคัญมาจากทักษะบวกจิตสำนึกแห่งความปลอดภัย บวกกับแนวคิดที่ดี คำว่า”ทักษะ” หมายถึงความชำนิชำนาญ เช่น การใช้ความเร็วในขณะฝนตกถนนลื่น ควรใบ้ความเร็วแค่ 2/3 ของความเร็วขณะที่ขับบนถนนแห้ง ๆ ณ บริเวณเช่นเดียวกัน หรือใช้ความเร็วให้สอดคล้องกับโค้ง ขณะขับเข้าโค้งตามที่ประเมินไว้ก่อนขับเข้าโค้ง เป็นต้น ส่วน “จิตสำนึก” หมายถึง ความตระหนักถึงความปลอดภัย มีสติตลอดเวลา ไม่เดา แต่ใช้การสังเกตการณ์ คาดการณ์ และประสบการณ์เป็นหลัก ให้การสั่งการมาจากสมองไม่ใช่มาจากความเคยชินที่ขาดการวะเคราะห์ อย่าให้เท้าอยู่เหนือสมอง ใคร ๆ ก็รู้ว่าความเร็วเป็นสิ่ง “ท้าทาย” สำหรับมนุษยชาติ ไม่ง่ายนักหรอกในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ถ้าไม่ปรับแนวคิดและจิตสำนึกที่ถูกที่ดีเสียก่อน ถ้าพยายาม คุณก็ทำได้

บทความรถยนต์ที่เกี่ยวข้อง

บทความรถยนต์ที่น่าสนใจ