เคล็ดลับซื้อรถมือสอง รวมเทคนิคและวิธีการเลือกซื้อรถมือสอง คลิก!! More

เมื่อดรัมเบรกมีเสียงดัง

เมื่อดรัมเบรกมีเสียงดัง

ไม่นานมานี้เจ้าของรถคันหนึ่งเกิดได้ยินเสียงเล็ก ๆ แหลม ๆ มาจากทางด้านหลัง คล้ายกับตอนเหยียบเบรกแล้วผ้าเบรกไปสีกับจานเบรก แต่ตอนที่ได้บินเป็นตอนที่ถอนเท้าออกจากแป้นเบรกแล้ว พานให้เกิดการสงสัยว่าเบรกติดหรือเปล่านะ จะอยู่เฉยคงไม่ได้ถ้าเกิดเบรคติดขึ้นมาจริงแล้วจะยุ่งไปใหญ่เป็นผลเสียส่งผลไปถึงตัวผ้าเบรคเสื่อมสภาพเบรคได้ไม่ดีเท่าเดิมและยังเกิดผลเสียหายไปสู่ตัวฝาครอบดรัมเบรคอีกด้วย


ระบบเบรกของรถกระบะในยุคปัจจุบันนั้นมาตรฐานออกมาจากโรงงานด้านหน้ามาในแบบดิสค์เบรกแบบมีช่องระบายความร้อน ส่วนตัวคาลิเปอร์เบรกแล้วแต่การออกแบบว่าจะใช้แบบลูกเดียว หรือแบบสองลูกสูบ หรือจะเป็นสี่ลูกสูบก็มีนะ ระบบเบรกเป็นส่วนสำคัญในการใช้งาน ต่อให้รถแรงขนาดไหนหรือถ้ารถเคลื่อนที่ได้แต่ไม่มีเบรกใครจะกล้าขับจริงไหมครับ ผมคนหนึ่งล่ะไม่เสี่ยง ความแตกต่างของระบบเบรกทั้งสองแบบระหว่างดิสค์เบรกกับดรัมเบรก ซึ่งระบบดิสค์เบรกเป็นการพัฒนาขึ้นมาจากวงการรถแข่งแล้วค่อยนำมาใช้ในรถทั่วไปเป็นการลบจุดด้อยของตัวดรัมเบรคออกไป เราจะได้จุดเด่นของตัวดิสค์เบรคมาแทนเช่นชิ้นส่วนน้อยการบำรุงรักษาง่าย ตรวจเช็คง่าย ระบายความร้อนเร็ว

ระบบเบรกหลังของรถกระบะบ้านเราเป็นดรัมเบรก ตัวดรัมเบรกจะมีลักษณะเหมือนฝาครอบโลหะมาปิดระบบเบรคจนเราไม่สามารถมองเห็นชิ้นส่วนด้านได้ในเลย ถ้าจะตรวจเช็คก็ต้องถอดล้อกันก่อนเลยมีน็อตให้ถอดด้วยกัน 5-6 ตัว แล้วแต่ยี่ห้อรถในการถอดน็อตล้อนั้นอย่าเพิ่งยกรถขึ้นให้ล้อลอยจากพื้นเดี๋ยวจะถอดน็อตยาก เมื่อล้อยังติดอยู่กับพื้นบวกกับการดึงเบรกมือหรือเข้าเกียร์ค้างไว้เพื่อทำให้เกิดแรงต้านในการถอดน็อตและยังมีเทคนิคในการถอดน็อตให้ไขออกแบบไขว้กันจะทำให้ถอดง่ายขึ้นไม่ฝืนกันเอง และยังไม่ต้องไขจนน็อตหลุดออก ให้ไขเพียงเพื่อให้สามารถใช้มือหมุนออกได้เพื่อให้น็อตยังล็อคล้ออยู่ เม่อยกรถให้ล้อลอยห่างจากพื้นค่อยถอดล้ออกมาให้เรียบร้อย จะเห็นดรัมเบรกเป็นตัวฝาครอบแบบเต็ม ๆ ตาก่อนถอดให้สังเกตว่ามีน็อตสี่แฉกล็อคฝาครอบดรัมเบรกอยู่ตัวเดียวเพื่อเป็นตัวประคองให้ฝาครอบยึดติดอยู่กับเบรก เมื่อคลายสี่แฉกออกแล้วให้ใช้ค้อมาเคาะรอบ ๆ ตัวฝาครอบเพื่อให้รู้สึกตัวและคลายการดูดติดแน่นออก เคาะได้ที่แล้วฝาครอบจะดันตัวออกนิดหน่อยให้เราสามารถจับเพื่อดึงออกมาได้ อีกข้างก็ต้องทำแบบเดียวกัน

เมื่อถอดฝาครอบออกมาได้แล้วเราจะเห็นตัวกลไกของระบบดรัมเบรกอย่างชัดเจน รถที่วิ่งมาเป็นหมื่นกิโลโดยไม่เคยถอดชุดดรัมเบรคมาทำความสะอาดจะเห็นฝุ่นจากผ้าเบรคออกมาจับอย่างหนา เป็นอีกสาเหตุที่เวลาขับรถแล้วรู้สึกว่าเบรกลื่น ๆ เอาไม่ค่อยอยู่ เพราะตัวฝุ่นจะไปจับอยู่บนหน้าสัมผัสผ้าเบรคที่สำคัญยังเป็นเหตุให้มีรอยอยู่บนตัวฝาครอบดรัมเบรคด้านในเพราะตัวฝาครอบดรัมด้านในเป็นจุดที่ผ้าเบรคไปสัมผัสในเวลาเหยียบเบรคทำให้รถหยุด มอง ๆ ดูแล้วคันนี้มีรอยเยอะเหมือนกัน

การทำความสะอาดขั้นต้นให้ใช้ลมเป่าฝุ่นออกไป หรือใช้แปรงอ่อน ๆ ปัดฝุ่นออกให้หมด จากนั้นก็จัดการขัดทำความสะอาดหน้าสัมผัสระหว่างตัวผ้าเบรคกับฝาครอบดรัมเบรคด้านในโดยใช้กระดาษทรายเบอร์ละเอียดขัดให้เรียบร้อยเพราะเสียงที่เกิดขึ้นมาอาจเกิดจากการเสียดสีระหว่างผ้าเบรคกับฝาครอบดรัมเนื่องจากมีเศษขี้ฝุ่นเยอะรวมทั้งเกิดรอยลึกอีกทำแบบนี้แล้วน่าจะหาย นอกจากนั้นยังได้หล่อลื่นด้วยจาระบีในจุดยึดตัวผ้าเบรกไปด้วย

และไหน ๆ ก็ถอดมาดูแล้วควรเช็คจุดรั่วซึมของตัวแม่ปั๊มเบรกไปด้วยเลย ถ้ามีก้จัดการซ่อมให้เรียบร้อย แต่ระบบเบรกส่วนมากแล้วจะทนทานมากใช้ได้เป็นสิบปีบางทียังไม่มีการรั่วให้เห็นสักนิด คันนี้เพิ่งใช้งานมาแค่สามปีเองจึงไม่มีอาการรั่วซึมให้เห็น เสร็จเรียบร้อยแล้ว ทั้งสองข้างก็นำตัวฝาครอบดครัมเบรกใส่เข้าที่และลองทดสอบโดยการเหบียบเบรกแล้วปล่อย ครั้งแรกที่เหยียบไม่มีเสียงเราดีใจสบายแล้วเรื่องหมู ๆ แต่พอเหยียบย้ำไปมาสักพักก็มีเสียงดังเช่นเดิมมาอีกแล้ว

แบบนี้โบราณว่า “เกาไม่ถูกที่คัน” เรียกว่าอาการยังไม่หายขาดเพราะแก้ไม่ถูกจุด จึงต้องถอดออกมาอีกครั้ง คราวนี้ดูว่าเสียงจะเกิดจากจุดไหนได้บ้าง อาจจะเป็นพวกจุดยึดต่าง ๆ ที่ขยับให้ตัวได้ของชุดขาเบรกด้านในหรือเสียงดังมาจากขุดตั้งระยะเบรคหรือเปล่า เป็นไปได้หมด แต่พอดีสายตาเราไปสังเกตเห็นสิ่งผิดปกติจุดหนึ่งที่เกิดขึ้นกับบริเวณแผ่นจานด้านหลังที่มีไว้กันน้ำนั้นมีรอยเสียดสีจนทำให้เกิดเป็นสนิม โดยจุดที่เสียดสีกับตัวจานด้านหลังนี้คือตัวขอบด้านข้างที่เป็นโลหะของตัวผ้าเบรคคือตัวฐานของผ้าเบรค ตัวฐานนี้จะมีการทำเป็นจุดที่ยื่นออกมานิดหน่อยสามจุดด้วยกันในผ้าเบรกแต่ละอัน และจะเป็นรอยชัดเจนบริเวณมุมทั้งสองอัน แบบนี้อาจจะทำให้เกิดเสียงได้ แต่ก็ไม่แน่ใจว่าเสียงที่เกิดจะใช่จุดนี้หรือไม่ เลยเอาจาระบีมาทาเพื่อทำให้เป็นฟิล์มบาง ๆ กันการเสียดสี

การทาอาจจะยากสักนิดเพราะตัวแผ่นจานด้านหลังกับฐานผ้าเบรกติดชิดแบบแนบสนิทกัน เลยต้องใช้ไขควงงัดให้มีช่องว่างแล้วนำจาระบีไปป้ายไว้ทั้งสามจุดเลยทำแบบนี้ทั้งสองฝั่งเพราะเป็นเหมือนกันหมดแต่จะมากน้อยต่างกัน แสดงให้เห็นว่ามีน้ำเล็ดลอดเข้ามาได้พอควรในเวลาที่เราขับรถลุยน้ำลุยฝน ที่สำคัญเวลาฝนตกหรือลุยน้ำมาใหม่ ๆ อาการเสียงดังจะไม่ค่อยได้ยิน แต่ถ้าแห้งก็จะมีเสียงเอี๊ยด ๆ เหมือนเหล็กเสียดสีกับเหล็กตามมาที่สำคัญดังไม่ยอมหายจนผมเองรำคาญ จึงต้องลงมือหาที่มาของเสียงกัน

เมื่ออัดจาระบีเข้าไปเรียบร้อยทุกจุดที่น่าจะเกิดเสียงแล้วก็ประกอบให้เข้าที่ใส่ล้อทดลองหมุนดูแล้วเหยียบเบรก เสียงไม่มีลองหมุนล้อแล้วเหยียบเบรคดูอีกหลายครั้งก็ไม่มีเสียงเกิดขึ้นแล้ว แบบนี้คงหายขาดแล้ว แก้ถูกจุดแน่นอน สบายใจแก้ได้แล้ว แต่เมื่อถอดเช็คเบรคหลังแล้วก็ตั้งเบรคไปในตัวด้วยเลยจะได้ไม่เสียเที่ยวเพราะตั้งได้ง่าย ๆ ไม่ยากเย็นใช้การหมุนล้อเพื่อเช็คว่าระยะที่ตั้งนั้นชิดจนฝืดเกินไปหรือไม่ ถ้าดีแล้วก็เช็คทุกจุดใส่ให้แน่นหนาประกอบล้อไขน็อตล้อให้แน่นและต้องไขแบบไขว้เหมือนตอนที่ถอดล้อด้วย ล้อจะได้ล็อคแบบแนบสนิทไม่ฝืนหรือขืนกันเอง

บทความรถยนต์ที่น่าสนใจ