เคล็ดลับซื้อรถมือสอง รวมเทคนิคและวิธีการเลือกซื้อรถมือสอง คลิก!! More

เปลี่ยนหม้อลมเบรกให้เหมาะ

            พวกรถกระบะที่โมดิฟายเครื่องเติมเพิ่มม้าหรือเปลี่ยนเครื่องใหม่เพิ่มความแรงแต่ยังไม่ได้ปรับเปลี่ยนชุดระบบเบรคทำเพียงแค่ “หม้อลมเบรก” เพียงอย่างเดียว โดยที่คิดว่าเปลี่ยนหม้อลมเบรกให้ใหญ่ขึ้นจะช่วยให้รถหยุดได้เร็วและดียิ่งขึ้น อันนี้จริงหรือมั่ว ชัวร์หรือไม่ ต้องอ่านเรื่องนี้กันครับ

เปลี่ยนหม้อลมเบรกให้เหมาะสม
            “หม้อลมเบรก” ทำงานโดยใช้สุญญากาศในการช่วยเสริมกำลังในขณะเบรกส่งผลให้สมรรถนะในการเบรคเปลี่ยนไปขึ้นอยู่กับขนาดของพื้นที่ซึ่งมีแรงดันบรรยากาศและสุญญากาศมากระทำ หากหม้อลมเบรกมีพื้นที่มาก ผลลัพธ์ทำให้เกิดแรงกระทำในการเบรกมากขึ้น หม้อลมเบรกมี 2 รูปแบบ คือ

            “หม้อลมเบรกแบบชั้นเดียว” (Single Brake Booster) เป็นหม้อลมเบรกแบบลูกสูบเดียว และ “หม้อลมเบรกแบบแทนเต็ม” (Tandem Brake Booster) หรือ “หม้อลมเบรกแบบ 2 ชั้น” ที่เรียก ๆ กันนั่นเอง หลักการทำงานก็คล้ายกันทั้งหมดแต่แบบหลังจะห้องผลิตสุญญากาศ 2 ช่อง เพื่อเป็นการเพิ่มกำลังในการเบรกให้สูงมากยิ่งขึ้น

            หม้อลมเบรกแบบสองชั้นจะมีข้อดีกว่าแบบชั้นเดียวตรงขนาดของหม้อลมที่ใหญ่ขึ้น การกักเก็บอากาศมีมากกว่าส่งผลให้น้ำหนักของแป้นเบรคในขณะที่เหยียบเบรคนั้นใช้แรงกดที่น้อยกว่า แต่สามารถสร้างแรงดันส่งต่อไปยังแม่ปั๊มเบรคได้มากกว่าแบบชั้นเดียว และหากลูกสูบชุดใดชุดหนึ่งของหม้อลมเบรกเกิดมีปัญหา อีกชุดหนึ่งยังสามารถทำงานต่อไปได้แต่ทว่าการเปลี่ยนหม้อลมเบรคเป็นแบบสองชั้นมันไม่ได้ช่วยให้ประสิทธิภาพของเบรคดีขึ้นกว่าแบบชั้นเดียวอย่างที่หลาย ๆ คนเข้าใจ มันเป็นเพียงแค่เพิ่มพื้นที่ในการกักเก็บอากาศ น้ำหนักของแป้นเบรกเวลาเหยียบเบาลงและสุดท้ายเพิ่มแรงดันของระบบเบรคมากขึ้นกว่าเดิม แต่แรงดันที่เพิ่มมากขึ้นอาจกลายเป็นดาบ 2 คม ทำให้ล้อล็อคง่ายมากเกินไปจนอาจเกิดอุบัติเหตุขึ้นได้

            อ้อ..และการเปลี่ยนหม้อลมเบรกตามที่หลาย ๆ คันทำกันอยู่นั้น ในรถกระบะรุ่นใหม่ ๆ บางยี่ห้อ การเปลี่ยนหม้อลมเบรคให้ใหญ่ขึ้นไม่ได้ช่วยให้ประสิทธิภาพเบรคเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด เนื่องจากว่าปกติรถกระบะและรถยนต์ทั่ว ๆ ไปนั้นจะอาศัยลมจากเครื่องยนต์มาช่วยในการทำงาน “หม้อลมเบรก” แต่รถกระบะรุ่นใหม่บางรุ่น อย่างที่เรียนให้ทราบว่าเขาใช้ตัวปั๊มสร้างแรงดันขึ้นมาต่างหาก ซึ่งการมีปั๊มแยกมาต่างหากจะทำให้แรงลมหรือสุญญากาศมันคงที่ตลอดเวลา ไม่เหมือนกับการดึงมาใช้จากเครื่องยนต์ตามปกติที่จะมีแรงหน่วงของเครื่องยนต์เข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้ฟีลลิ่งในการเบรกไม่สามารถเพิ่มหรือลดแรงกระทำที่ส่งต่อไปยัง “แม่ปั๊มเบรก” ให้ส่งแรงกันน้ำมันเบรกไปยังล้อทั้ง 4 แปรผันตามน้ำหนักของเท้าคนขัยที่เหยียบลงไปบนแป้นเบรกได้

            ซึ่งก็เป็นที่มาของอาการ “เบรกทื่อ” อย่างที่เจอในรถกระบะรุ่นใหม่บางรุ่นและหากคิดที่จะอัพเกรดระบบเบรคด้วยการเปลี่ยนหม้อลมเบรคจึงไม่ใช่ทางออกที่ถูกวิธีนัก วิธีที่ถูกต้องคือ อย่างแรกลองเปลี่ยน “ผ้าเบรก” ที่มีประสิทธิภาพในการทำงานได้ขึ้นกว่าของสแตนดาร์ด แต่ไม่จำเป็นต้องเป็นของซิ่งราคาแพง ซึ่งเวลานำมาใช้งานต้องขับรถเลียเบรคอยู่พักนึงเพื่อให้อุณหภูมิของผ้าเบรคสูงขึ้นในระดับที่พร้อมใช้งาน ไม่งั้นก็เบรกไม่อยู่จนหน้ารถไปทิ่มตูดรถคันข้างหน้าได้โดยไม่ต้องแจ้งล่วงหน้า หรือว่าถ้าอยากเอาชัวร์ ๆ ก็นี่เลยจัดการอัพเกรดชุดเบรกใหม่ทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็น “คาลิเปอร์เบรก” แบบ 2 Pot หรือ 4 Pot แต่มีขนาดโตกว่าของเดิม รวมไปถึง “จานเบรก” ที่มีขนาดใหญ่ขึ้นทำงานร่วมกับ “ผ้าเบรก” ที่มีคุณภาพสูงขึ้นถึงจะเอาอยู่

            ก่อนจะเปลี่ยน “หม้อลมเบรก” ขอให้คิดให้ถี่ถ้วนก่อนว่าต้องการาเปลี่ยนหม้อลมเบรกใหม่เพื่อจุดประสงค์ใด เช่น เปลี่ยนเพื่อให้แป้นเหยียบเบาขึ้น หรือเปลี่ยนเพื่อต้องการให้เบรกใช้งานได้ชัวร์ขึ้นในระยะยาวจากการใช้งานอันหนักหน่วง หรือเปลี่ยนเพราะหม้อลมเบรกอันเดิมติดรถเริ่มเสื่อมสภาพ ผ้าไดอะแฟรมกลับบ้านเก่า เป็นต้น หากคิดว่าจะเปลี่ยนหม้อลมเบรกจริง ๆ อย่างแรกควรดูขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางความโตของหม้อเบรกเดิมติดรถว่ามีขนาดเท่าใด พื้นที่รอบ ๆ หม้อลมเบรคภายในห้องเครื่องมีพื้นที่โตมาเพียงพอต่อการเปลี่ยนหม้อลมเบรคที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางที่โตขึ้นรวมไปถึงแบบ 2 ชั้นด้วยหรือเปล่า ถ้าพื้นที่เหลือพอก็จัดการไปเดินเลือกหาซื้อหม้อลมเบรกลูกใหม่กันได้เลย

            ข้อควรจำในการเลือกซื้อหม้อลมเบรกลูกใหม่อยู่ตรงที่ จุดยึดหน้าแปลนน็อตระหว่างหม้อลมกับ Fire Wall เป็นแบบกี่ลูก ซึ่งโดยมากรถกระบะในบ้านเราทั้ง ISUZU NISSAN FORD MAZDA MITSUBISHI มักจะใช้น็อตยึดเพียงแค่ 2 ตัวเท่านั้น ส่วน TOYOTA ล่อไป 4 ตัว นอกจากเรื่องน็อตยึดแล้วต้องดูขนาดด้วยว่าจะเล่นแบบชั้นเดียวลูกใหญ่หรือจะเปลี่ยนไปเล่นแบบ 2 ชั้น แถมยังต้องมองท่อทางเดินสุญญากาศด้วยว่าไปทิศทางเดียวกันหรือไม่ ท่อสุญญากาศนี่จะอยู่บนหรือล่างก็ได้แต่ขอให้ไปในทิศทางเดียวกับของหม้อลมเบรคลูกเดิม

            เมื่อได้หม้อลมเบรกลูกใหม่สมใจอยากแล้วก็จัดการเปิดประตูเอาเครื่องมือมาใช้ อาทิ คีมปากจิ้งจก ชุดบล็อคและข้อต่ออ่อน จัดการมุดลงไปบริเวณใต้คอพวงมาลัย มองดูดี ๆ จะเห็นสลักยึดก้านควบคุมลิ้นของหม้อลมเบรคกับแป้นเหยียบเบรคจัดการเอาคีมปากจิ้งจกค่อย ๆ แซะดึงเอาปิ๊นล็อคสลักก้านควบคุมลิ้นกับแป้นเหยียบออก ต่อมาก็ดึงสลักออก ตามด้วยชุดบล็อกพร้อมข้อต่ออ่อน จัดการถอดน็อตยึดหม้อลมเบรกออกให้ครบตามจำนวนที่มีอยู่ แล้วก็จัดการเอาคีมอันเดิมนั้นมาคีบเข็มขัดรัดท่อสุญญากาศจากหม้อเบรคออกเสียก่อน ตามด้วยการถอดน็อตยึดแม่ปั๊มเบรกตัวบนออกจากหม้อลมเบรก จากนั้นค่อย ๆ เอามือทั้ง 2 ข้างจับหม้อลมเบรกขยับไปมา ค่อย ๆ ดึงออกมาวางไว้ข้างนอก แล้วเอาหม้อลมเบรกลูกใหม่ใส่เข้าไปแทนที่เดิมก่อนใส่ให้จัดการปรับตั้งระยะของก้านควบคุมลิ้นที่จะเอาไปยึดกับขาแป้นเบรคเสียก่อนเพื่อง่ายต่อการทำงานและไม่เสียเวลาอีกต่างหากทุกอย่างเรียบร้อยประกอบกลับขันน็อตให้แน่นแล้วนำรถออกไปลองดูว่าประสิทธิภาพหลังการเปลี่ยนหม้อลมเบรคลูกใหม่เป็นเช่นไร น้ำหนักของแป้นเบรกเปลี่ยนไปจากเดิมมากน้อยขนาดไหน จะได้ทำความคุ้นเคยในการใช้งาน

            “ระบบเบรก” เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและเพิ่มความปลอดภัยในการขับขี่ ทางที่ดีควรมีการตรวจเช็คอยู่เสมอจะช่วยให้ใช้รถด้วยความปลอดภัย อย่าละเลยและคิดว่าไม่สำคัญ เพราะรถ “หยุดไม่ได้” นี่แย่กว่ารถ “ไปไม่เป็น” เยอะเลย
            

บทความรถยนต์ที่น่าสนใจ