เคล็ดลับซื้อรถมือสอง รวมเทคนิคและวิธีการเลือกซื้อรถมือสอง คลิก!! More

เปลี่ยนถ่ายระบบของเหลวในรถ

เปลี่ยนถ่ายระบบของเหลวในรถ

เทคนิครถยนต์: คราวนี้เป็นเรื่องของการเปลี่ยนถ่ายของเหลวจำพวกน้ำมันเครื่อง น้ำมันเกียร์ น้ำมันเฟืองท้าย ซึ่งเป็นสิ่งที่เรา ๆ ท่าน ๆ มีความรู้ทางด้านช่างเพียงนิดหน่อยก็สามารถทำได้แล้วไม่ต้องไปคอยง้อช่าง ถึงแม้เราอาจทำได้ไม่รวดเร็วเท่ากับพวกที่มีความชำนาญทางด้านนี้ แต่เมื่อทำได้จะรู้สึกภูมิใจมากขึ้น และที่สำคัญเราจะทำได้ละเอียดรอบคอบกว่าช่างเพราะเราเป็นเจ้าของรถเอง

น้ำมันเครื่อง ที่ปัจจุบันมีหลากหลายทั้งเกรดและราคา มาตรฐานน้ำมันเครื่องของเครื่องยนต์ดีเซลตอนนี้ล่าสุดจะใช้รหัส “CI-4” การเลือกใช้เกรดน้ำมันเครื่องในยุครถยนต์คอมมอนเรลจะกำหนดมาใช้ให้เบอร์ 10 W-30 หรือเบอร์ 15 W-40 แต่ถ้าเป็นเครื่องยนต์ดีเซลที่ไม่ใช่คอมมอนเรล ผมขอแนะนำว่าไม่ควรใช้น้ำมันเครื่องเบอร์ 10 W-30 ในคู่มือประจำรถก็ไม่แนะนำเช่นกันเนื่องจากว่ามันใสไป

น้ำมันเกียร์และน้ำมันเฟืองท้าย ถึงจะเป็นเฟืองเหมือนกันแต่การใช้งานต่างกันถ้าเป็นน้ำมันเกียร์ที่มีใช้ส่วนมากจะเป็นเกรด 90 กับ 140 และจะมีพวกน้ำมันเกียร์แบบมัลติเกรด เราจะเห็นที่ข้างกระป๋องเขียนว่า 85 W-90 หรือ 85 W-140 ส่วนมาตรฐานน้ำมันเกียร์ล่าสุดจะเป็น GL 5 ลองพลิกที่ตัวกระป๋องดูครับมีรายละเอียดที่คุณควรใส่ใจอ่านข้อบ่งใช้ให้ดี นอกจากนี้ตัวน้ำมันเฟืองท้ายยังมีเกรดที่ใช้กับเฟืองท้ายลิมิเต็ดสลิปโดยเฉพาะอีกด้วย ควรเลือกใช้ให้ถูกต้องตามคู่มือรถ และถ้าเป็นรถขับเคลื่อนสี่ล้อนอกจากจะต้องใช้น้ำมันเฟืองท้ายแบบลิมิเต็ดสลิปแล้วยังมีเฟืองท้ายลูกหน้าให้เปลี่ยนถ่ายน้ำมันด้วย เปลี่ยนทีเดียวให้เรียบร้อยไปเลย และถ้าเป็นเกียร์ออโตต้องเป็นน้ำมัน ATF (สำหรับเกียร์อัตโนมัติเท่านั้น) มีมาตรฐานออกมาเป็น Dextron III และล่าสุดกับมาตรฐาน T-IV

มาเริ่มกันเลยจากน้ำมันเฟืองท้ายที่รถคันนี้เป็นรถกระบะขับเคลื่อนสองล้อหลังขั้นตอนแรกต้องเตรียมภาชนะในการรองรับน้ำมันเฟืองท้ายตอนถ่ายออกส่วนมากถ้าไม่มีถาดหรือกะละมังก็ให้ใช้แกลลอนน้ำมันเครื่องเก่าตัดปาดด้านข้างออกให้มีเนื้อที่ในการรองรับน้ำมันเฟืองท้ายให้กว้างหน่อย ป้องกันการเลอะเทอะ จากนั้นเตรียมมุดลงไปอยู่ใต้ท้องรถ ปูกระดาษหรือผ้าใบให้เราสามารถทำงานได้สะดวกไม่ต้องถึงใช้กระดาษเลื่อนหรอกเพราะยิ่งทำให้พื้นที่การทำงานคับแคบไปอีก สำรวจใต้ท้องรถดูสักนิดว่ามีคราบน้ำมันเฟืองท้ายรั่วออกมาบ้างหรือไม่ จะได้ทราบแล้วแก้ไขไปด้วย โดยทั่วไปถ้าเกิดมีการรั่วซึมตัวน็อตถ่ายหรือเติมส่วนมากสาเหตุเกิดจากแหวนรองแบบนี้ซื้อแหวนมาเปลี่ยนน่าจะหายเป็นปลิดทิ้ง ส่วนถ้าเป็นการั่วซึมที่หัวเฟืองท้ายไอ้ตรงที่มีเพลากลางเสียบเข้ามา อันนี้เรื่องใหญ่ต้องถอดมาเปลี่ยนซีลยางกันถึงหายขาดเช่นเดียวกันกับด้านข้างทั้งล้อซ้ายและขวา หากมีการรั่วซึมก็ต้องเปลี่ยนซีลยางเช่นกันครับ เมื่อหาภาชนะรองพร้อมมีกระดาษรองกันพื้นเลอะแล้วก็ให้ใช้ประแจบล็อกเบอร์ 24 ไขน็อตตัวเดิมออกมาให้ได้ก่อน แต่เนื่องจากเนื้อที่ในการออกแรงไม่พอ จึงต้อใช้แม่แรงยกรถแล้วใช้สามขารองให้มั่นคง (ระวังเด็กกับสัตว์เลี้ยงอย่าให้มาป้วนเปี้ยน เดี๋ยวจะเกิดอันตราย) คราวนี้มีเนื้อที่ออกแรงไขออกมาได้สบาย ๆ คงสงสัยแล้วซิว่าจะถ่ายน้ำมันเฟืองท้ายแล้วทำไมไม่ไขน็อตตัวถ่ายออกก่อนนะ เพราะว่าหากเราไปไขน็อตตัวถ่ายออกก่อนมติว่าไขน็อตเดิมไม่ออกอันนี้เรื่องใหญ่ครับจะขยับรถไปไหนก็ไม่ได้ ถ้ามีบล็อกลมก็ไม่มีปัญหา แน่นยังไงก็ไขได้สบาย แต่ถ้าไม่มีให้ทำตามคำแนะนำผมดีที่สุดเพราะหากไขไม่ออกจริง ๆ ยังพอขับรถไปให้ช่างเปลี่ยนได้

เมื่อไขได้แล้วค่อยไปจัดการกับน็อตถ่าย ไขออกแล้วเล็งตรงน้ำมันออกให้ตรงภาชนะรับ รอสักพักเมื่อน้ำมันเก่าไหลออกจนหมด ไขน็อตตัวถ่ายเข้าให้แน่นตามเดิม ใส่น้ำมันเฟืองท้ายใหม่เข้าไปให้เต็มในระดับช่องเติม (รถแต่ละยี่ห้อใช้น้ำมันเฟืองท้ายไม่เท่ากันอยู่ที่ประมาณ 2.5-3 ลิตร ให้ดูในคู่มือประจำรถครับ) เรียบร้อยแล้วจึงไขน็อตให้แน่น ขึ้นแม่แรงนำสามขาลง เป็นอันเสร็จการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเฟืองท้าย
ต่อไปน้ำมันเกียร์ รถเกียร์ธรรมดาจะใช้น้ำมันเกียร์เบอร์ 90 กันทั้งนั้น ยกเว้น ISUZU ยี่ห้อเดียวที่ใช้น้ำมันเกียร์เกรดเดียวกับน้ำมันเครื่อง จึงขอเตือนสำหรับผู้ไม่รู้กันหน่อยว่ารถ ISUZU ถ้าต้องการเปลี่ยนน้ำมันเกียร์ต้องดูคู่มือให้ละเอียด ที่ไม่เหมือนชาวบ้านเค้าก็เพราะทำเฟืองเกียร์มาละเอียดเพื่อต้องการลดเสียงดังของเกียร์ แบบนี้ถ้าสุ่มสี่สุ่มห้าใช้น้ำมันเกียร์เบอร์ 90 ที่มีความข้นมากจะทำให้น้ำมันเกียร์ไม่สามารถแทรกตัวไปหล่อลื่นตามซอกเล็ก ๆ ของเฟืองเกียร์ได้ เกียร์จึงเข้ายากไป ๆ มาๆ ทำให้เกียร์ไหม้อีกด้วย
ขึ้นแม่แรงแล้วใช้สามขายกไว้ในจุดที่มั่นคงเพื่อความปลอดภัยสำหรับผู้ที่จะต้องมุดลงไปเปลี่ยนน้ำมันเกียร์ใต้ท้องรถ ตอนถ่ายของเก่าออกไม่ยากเท่าไหร่ ซึ่งการเปลี่ยนน้ำมันเกียร์นั้นพื้นที่ในการทำแคบมากเราจะเห็นตามศูนย์บริการทันสมัยยกรถขึ้นแล้วใช้ระบบมอเตอร์ดูดน้ำมันเก่าถ่ายออกอย่างรวดเร็ว ส่วนการเติมเพียงแหย่สายลงไปในช่องเติมแล้วกด น้ำมันก็จะไหลเข้าอย่างรวดเร็ว ไม่กี่อึดใจก็เต็ม แต่ทำเองบ้านลิฟท์ยกรถไม่มี หลุมเซอร์วิสไม่มี มีเต็มที่ก็แม่แรงเท่านั้น เวลาเติมน้ำมันเกียร์ต้องลำบากแน่นอน ดังนั้นจึงต้องหาวัสดุเหลือใช้มาทำเป็นอุปกรณ์ช่วยในการเปลี่ยนน้ำมันเกียร์ซะแล้ว

ให้นำกระป๋องน้ำมันเฟืองท้ายที่เติมหมดมาสด ๆ ร้อน ๆ  มาดัดแปลงตัดตูดกระป๋องออกไป คราวนี้หน้าตาคล้ายกรวยกรอกน้ำตรงปลายของกระป๋องที่แหลมนั้นให้ไปหาสายยางอันเล็กมาสวมเข้าไปให้แน่นหนาหน่อยเพื่อป้องกันสายยางหลุด แต่ต้องวัดระยะสายจากตัวเติมน้ำมันเกียร์ที่อยู่ข้างเสื้อเกียร์วัดออกมาให้ได้ระยะทำงานสะดวก เมื่อเสร็จสิ้นการทำอุปกรณ์ช่วยเติมแบบง่าย ๆ แล้วค่อยมุดลงไปเพื่อสอดสายยางด้านที่เหลือเข้าไปในช่องเติมน้ำมันเกียร์ อย่าลืมไขน็อตตัวถ่ายปิดให้เรียบร้อยก่อน น้ำมันเกียร์ของคันนี้จะใช้น้ำมันเครื่องเบอร์ 10 W-30 เพราะรถคันนี้เป็น ISUZU ตอนเติมอาจช้าหน่อยเพราะใช้เพียงหลักการแรงดึงดูดของโลก น้ำจะไหลจากที่สูงลงที่ต่ำ เราจึงยกระดับของตัวกระป๋องน้ำมันเฟืองท้ายให้สูงขึ้นแล้วเติมน้ำมันเครื่องเบอร์ 10 W-30 น้ำมันค่อย ๆ ไหลลงไป ขั้นตอนนี้ต้องคอยดูด้วยว่าสายอีกด้านหนึ่งยังเสียบอยู่ที่ช่องเติมหรือไม่ ส่วนเรื่องเติมนั้นง่ายมากถ้าน้ำมันล้นอออกมาจากรูเติมแสดงว่าเต็มแล้ว นำสายยางออกแล้วไขปิดให้แน่นจากนั้นจัดการเช็คการรั่วซึมให้เรียบร้อย

ต่อจากนั้นก็เป็นการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องซึ่งในคราวนี้เราจะยังไม่เปลี่ยนกรองน้ำมันเครื่องตามคู่มือบอกว่าสามารถใช้ได้นานถึง 10,000 กม. เมื่อเป็นแบบนั้นเราจึงเล็งเห็นว่าประหยัดเสียแต่ค่าน้ำมันเครื่องเท่านั้น ตอนนี้ทางด้านหน้ายังคงขึ้นสามขาอยู่ได้โอกาสไขน็อตถ่ายน้ำมันเครื่องไปด้วย หาภาชนะรองน้ำมันเครื่องให้ดีเพราะน้ำมันเครื่องมีปริมาณมากกว่าน้ำมันเกียร์และน้ำมันเฟืองท้าย ถ้าล้นมาแล้วจะยุ่ง เมื่อเปิดตัวถ่ายออกได้แล้วอย่าลืมไปเปิดตัวเตติมออกด้วยจะทำให้น้ำมันไหลออกได้คล่องขึ้นรอให้น้ำมันไหลออกให้หมดก่อนแล้วจึงปิดรูถ่ายให้เรียบร้อย นำน้ำมันเครื่องที่เหลือจากการเติมเกียร์มาใส่เครื่องยนต์ได้เลยรับรองว่าไม่พอต้องเปิดอีกแกลลอนเติมให้ได้ปริมาตรรวม 6 ลิตร

ปิดฝาเติมสตาร์ทเครื่องสักครู่ ดับเครื่องยนต์ทิ้งไว้ 30 นาที แล้วมาเช็คระดับน้ำมันเครื่องใหม่ถ้าขาดก็เติมถ้าเกินต้องถ่ายออกระวังอย่าให้มากหรือน้อยกว่าที่กำหนด เพียงแค่นี้ขั้นตอนในการเปลี่ยนถ่ายของเหลวสามอย่างก็เป็นอันเสร็จสมบูรณ์

เทคนิครถยนต์:


บทความรถยนต์ที่น่าสนใจ