เคล็ดลับซื้อรถมือสอง รวมเทคนิคและวิธีการเลือกซื้อรถมือสอง คลิก!! More

เพิ่มความกระชับให้กับคันเกียร์

            งานนี้เกียร์ออโตหมดสิทธิ์เพราะจะพาไปดูการเปลี่ยนบู๊ชยางที่แขนประคองคันเกียร์ ซึ่งเกียร์อัตโนมัติไม่มีอยู่แล้ว ก็เลยสงวนสิทธิ์ให้ได้เสียเงินเฉพาะสาวกน่องซ้ายโตเท่านั้น บาทบาทของบู๊ชยางรางคันเกียร์ก็ไม่มีอะไรมาก เพียงแค่คอยประคองด้ามเกียร์ให้มั่นคงในจังหวะที่เราโยก-สับเกียร์นั่นเอง ซึ่งตรงนี้ก็จะขึ้นอยู่กับวัสดุที่นำมาผลิตอีกที ถ้าเป็นของโรงงานมันก็จะเป็นยางสังเคราะห์สีดำ ความแข็งไม่มากนักจะออกแนวหยุ่น ๆ หน่อย ซึ่งมันก็ดีในระดับหนึ่งสำหรับการใช้งานทั่วไปที่ให้ความนุ่มนวลแต่อาจจะยังไม่เร้าใจสำหรับบางคน กับจังหวะโยก-สับเท่าที่ควรก็เท่านั้น รวมไปถึงอายุอานามที่ถึงวาระปลดระวางบู๊ชยางเดิม ๆ แทนที่ตัวบู๊ชยูรีเธนสีสันสดใส ซึ่งเนื้อวัสดุจะมีความแข็งกว่า การยืดหยุ่นก็น้อยลง เท่ากับว่าจังหวะที่เราโยกเกียร์ สะพานเกียร์ก็จะได้รับแรงไปเต็ม ๆ อาจจะทำให้ต้องออกแรงเพิ่มขึ้นสักนิด แต่กระชับกว่าเดิมแน่นอน

คันเกียร์
            บู๊ชยูรีเธนชุดใหม่ประกอบไปด้วยบู๊ชยางยึดแขนประคองคันเกียร์ (Extension End Rubber) แบบ 2 ชั้นประกบกัน ส่วนของเดิมจะเป็นแบบชิ้นเดียว พร้อมด้วยบู๊ชเหล็กอีกชิ้นและประกับล็อคแขนประคองคันเกียร์ (Extensino Mount Rubber) อีก 1 ตัว สนนราคาทั้งชุดอยู่ที่ประมาณ 1,000 บาทถ้วน ๆ ส่วนเครื่องเคียงที่จะต้องใช้ก็จะมีแค่จาระบีอย่างเดียว ตามด้วยเครื่องไม้เครื่องมือ แม่แรง สามขาอีก 1 คู่ กระดานนอน และชุดบล็อกอีกสำรับ

            เริ่มด้วยการยกรถขึ้นแล้วรองด้วยสามขา บริเวณที่ใช้ตั้งสามขาจะต้องมั่นใจได้ว่าสามารถรับน้ำหนักได้เป็นอย่างดี รวมไปถึงจุดที่ใช้ขึ้นแม่แรงก็เอาตามคู่มือจากโรงงานนั่นแหละ จากนั้นก็เตรียมประจำที่กับกระดานนอนคู่ใจในการที่จะเข้าไปแหงนดูใต้ท้องรถตัวเองได้เลย พร้อมด้วย
กรอกแกรก,ข้อต่อ,ลูกบล็อก No.12 และประแจแหวนเบอร์ 12 อีกตัว ค่อย ๆ เลื่อนเข้าไปแถว ๆ กึ่งกลางรถนั่นแหล่ะ แล้วแหงนมองขึ้นไปที่อุโมงค์เกียร์ หาปลายคันเกียร์ให้เจอก็จะเห็นรางคันเกียร์พาดยาวไปค้ำกับเสื้อเกียร์ เจ้าตัวนี้แหละที่เราจะต้องไปยุ่มย่ามกับมัน เอาที่ถอดง่ายสุดก่อนเลย กับบู๊ชยึดแขนประคองคันเกียร์ตัวกลม ๆ ซึ่งจะยึดอยู่กับ Extension Bracket ที่เสื้อเกียร์อีกที โดยจะมีน็อตตัวผู้เบอร์ 12 ล็อคไว้เพียงตัวเดียว ใช้ประแจแหวนคลายแป๊ปเดียวก็เรียบร้อย

            ต่อกันที่ประกับล็อคแขนประคองเกียร์ ซึ่งรูปลักษณ์จะต่างจากบู๊ชโดยสิ้นเชิง ลักษณะจะเหมือนกับแท่งยางมีรู 3 รู ไอ้ตัวนี้แหละที่เล่นซะเหงื่อย้อย เนื่องจากพื้นที่ในการมุดเข้าไปมีน้อยมาก อีกทั้งยังมีท่อไอเสียท่อนกลางขวางเอาไว้อีก แต่เท่าที่เล็ง ๆ ดูก็ยังพอมีพื้นที่ให้ปฏิบัติการ เพียงแต่ต้องเอาข้อต่อกากบาทที่ใช้กับลูกบล็อกมาเพิ่มอีกตัว จึงจะสามารถปลดของเดิมออกได้

            พอปลดระวางของเดิมได้หมดแล้ว ก็มาถึงขั้นตอนการใส่ของใหม่เข้าไปโดยทำย้อนจากตอนที่ถอดได้เลย แต่ห้ามลืมจาระบีเป็นอันขาด เนื่องจากเจอกับน้ำและสิ่งสกปรกตลอดเวลาหากขาดซึ่งการหล่อลื่นที่ดีแล้วประสิทธิภาพของยูรีเธนคงไม่สามารถสำแดงเดชให้ได้สัมผัสกันแบบเต็ม ๆ เพราะฉะนั้นบริเวณไหนของเจ้าบู๊ชและประกับยูรีเธนที่มีรูกลม ๆ ก็ป้ายจาระบีเข้าไป โดยเฉพาะช่องที่จะต้องทำหน้าที่เป็นบ่ารองรับการหมุนตัวของแขนประคองเกียร์ ประเคนมันเข้าไปเลย แล้วก็อัญเชิญเข้าสู่ที่พักแห่งใหม่กันได้เลย หลังจากประกอบทุกอย่างเข้าที่เข้าทางหมดแล้ว อย่าลืมเช็คความเรียบร้อยกับบรรดาน็อตต่าง ๆ ที่เราได้รื้อออกมา เพราะชิ้นส่วนต่าง ๆ เหล่านี้หากลืมขัน หรือขันไม่แน่นพอ เกิดคลายตัวขึ้นมา จะเหนื่อยกันอีกรอบ เมื่อตรวจเช็คทุกอย่างดีแล้ว ขึ้นประจำตำแหน่งคนขับได้เลย เกียร์มีกี่เกียร์โยกมันให้ครบทุกตำแหน่ง แล้วลองฟังดูว่ามีเสียงอะไรผิดปกติหรือไม่ คุณจะสัมผัสได้ถึงความแน่นกระชับขึ้นในจังหวะที่เราเปลี่ยนเกียร์อย่างรู้สึกได้และต้องแลกด้วยการออกแรงเพิ่มขึ้นอีกนิด แต่ใส่แล้วดึง “กรึ๊บ” เป็นที่ถูกอกถูกใจข้าวของรถเค้าจริง ๆ

            อย่างที่บอกครับว่าถ้าชอบสัมผัสที่นุ่มนวลเวลาที่เปลี่ยนเกียร์แนะนำว่าเล่นของติดรถ นั่นแหละ แจ่มสุดแล้ว เพราะทนแน่ ก็ 10 กว่าปียังไม่มีขาดเลยอะ แต่ถ้าชอบฟีลแข็งนิด ๆ แต่แน่นปั๊ก ๆ ล่ะ ก็น่าจะถูกใจกับบู๊ช และประกับยูรีเธนชุดนี้ แต่ถ้าถามว่าใส่แล้วช่วยให้เปลี่ยนเกียร์เร็วขึ้นมั้ย บอกได้เลยว่าไม่เกี่ยวกัน อยู่ที่วิธีและความเร็วในการดัน-ดึง-โยกของแต่ละคนครับ เพราะเราไม่ได้เข้าไปวุ่นวายกับระยะจากจุดหมุนถึงปลายคันเกียร์แบบด้ามเกียร์ควิกชิฟท์แต่อย่างใด คนละส่วนกันจ้า

บทความรถยนต์ที่เกี่ยวข้อง

บทความรถยนต์ที่น่าสนใจ