เคล็ดลับซื้อรถมือสอง รวมเทคนิคและวิธีการเลือกซื้อรถมือสอง คลิก!! More

การตรวจเช็กรถมือสองด้วยตัวคุณเอง ตอนที่ 1

การตรวจเช็กรถมือสองด้วยตัวคุณเองเพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อเต็นท์

            เมื่อคุณตัดสินใจซื้อรถมือสองไปแล้ว หากได้รถที่ดี ก็จะเป็นมือเป็นเท้า เป็นเพื่อนร่วมทาง เป็นเพื่อนคู่ใจ เป็นเพื่อนอำนวยความสะดวกให้กับคุณได้ แต่จริง ๆ แล้การที่คนซื้อจะได้รถที่ถูกใจจริง ๆ นั้นหายากมาก ๆ แม้ตอนแรกที่ซื้อไปสักสองสามอาทิตย์ หรือหนึ่งเดือน อาจจะยังชอบอยู่ เพราะยังไม่เกิดปัญหา แต่เมื่อผ่านสองเดือนซึ่งพ้นระยะประกันของรถมือสองส่วนมากไปแล้ว และปัญหาต่าง ๆ ค่อย ๆ โผล่ทีนี้ล่ะความทุกข์จะมาเยือน


เรื่องอย่างนี้ว่ากันไม่ได้ เพราะคนที่ว่าชำนาญจริง ๆ ก็ยังแพ้เล่ห์เหลี่ยม การย้อมแมว และการปกปิดของเจ้าของเต็นท์เลย ที่เป็นเช่นนี้เพราะคนเหล่านี้รอบจัดกว่า ต้องรู้เยอะกว่าคนธรรมดา เพราะไม่อย่างนั้นคงไม่สามารถ “เอารถที่ชนยับทั้งคัน” มาซ่อมแล้วย้อมแมวขายได้หรอก หนทางที่ดีที่สุดคือการที่คุณต้องปกป้องสิทธิ์ของคุณเป็นอับดับแรก ด้วยการรู้ทันกลยุทธ์การหมกเม็ด หรือกลยุทธ์การย้อมแมว ที่คุณจะสามารถนำไปศึกษา และจำไปใช้กับตัวเองในการดูรถมือสองได้ดังต่อไปนี้

ตรวจเช็กโครงสร้างของรถมือสอง ด้วยการสังเกต
เป็นการเช็ก หรือตรวจสอบลักษณะโครงสร้าง ตัวถัง ลักษณะภายนอกของรถซึ่งสัมพันธ์กับการชนหรือเคยเกิดอุบัติเหตุมาแล้วโดยเฉพาะรถที่พลิกคว่ำว่า นอกจาโครงสร้างของรถยนต์และจุดศูนย์ถ่วงหรือที่เราเรียกกันว่าค่าซีจี (CG : Center of Gravity) จะเสียศูนย์ไป ทำให้ไม่สามารถบังคบรถให้อยู่ในทิศทางตรงได้แล้ว ยังทำให้ความรู้สึกในการขับขี่เสียไปอีกด้วย เพราะจะให้ช่างเทวดามารวมตัวกันก็ไม่สามารถทำความรู้สึกเดิม ๆ กลับมาได้ ดังนั้นหากลูกค้าซื้อรถมือสองไปแล้วและมารู้ทีหลังว่าเคยผ่านอุบัติเหตุแรง ๆ มาก่อน ก็จะยิ่งเสียความรู้สึกมาก

ดังนั้นในขั้นต้น การพิจารณาได้ด้วยสายตาจึงเป็นการตรวจเช็กที่ง่ายที่สุด เพียงแค่รู้จุดที่จะต้องเช็กและต้องใช้การเปรียบเทียบ รวมถึงความละเอียดอ่อน เพราะหากรถผ่านการชนแรง เกิดอุบัติเหตุหนัก ๆ มาแล้ว แม้จะใช้ช่างมือเทวดาขนาดไหน ก็ใช่ว่าจะซ่อมได้เหมือนก่อนชน เพราะช่องไฟของรอยต่อ ระยะห่างระหว่างร่องรอยเส้นของตัวรถคือสิ่งที่ละเอียด หากลูกค้าไม่มีความรู้หรือไม่สังเกตเห็นความแตกต่างก็จะไม่รู้ว่ารถคันนั้นเกิดอุบัติเหตุมาแล้วหรือไม่สิ่งที่คุณจะสังเกตได้โดยง่ายนั้น มีดังต่อไปนี้

ระวังเรื่องโครงสร้างที่ผ่านการชนยับ ที่นำมาเชื่อมต่อกับรถคันอื่น
รถเก๋งจะใช้โครงสร้างแบบโมโนคล็อค ซึ่งผนังหรือเหล็กทุกชิ้นที่ขึ้นรูปเป็นตัวถังจะมีส่วนในการรับน้ำหนักหรือต้านทานแรงบิด หากมีส่วนใดส่วนหนึ่งผิดรูปไปจากเดิม ย่อมส่งผลถึงความปลอดภัยและสมรรถนะ สิ่งที่สำคัญคือควรระวังรถพังยับแล้วเอามาเชื่อมต่อกัน ให้สังเกตว่ามีรอยเชื่อมต่อ เกย จากฝั่งหนึ่งไปยังอีกฝั่งหรือไม่ เพราะหากเป็นอย่างนั้นแสดงว่ารถคันนี้มีสิทธิ์ที่จะเป็นรถตัดต่อแบบครึ่งคันอันตรายอย่างมาก รวมถึงการเปิดใต้พรมออกมาดูว่ามีรอยเชื่อมหรือไม่ หากตะเข็บเรียบตรงเสมอกันทั้ง 2 ด้าน ก็แสดงว่าไม่มีการชนหรือพลิกคว่ำและไม่มีการทำสีทับ

รถที่ผ่านการเชื่อมต่อ หมายถึง รถใหม่ที่ผ่านการชนหนักมามาก ๆ ซึ่งอาจจะเป็นช่วงหน้าพังยับ แต่ช่วงหลังคนขับไปถึงท้ายรถไม่เป็นอะไรมาก หรือข้างหลังพังยับแต่ข้างหน้าซ่อมแซมแค่เพียงเล็กน้อย เมื่อเป็นดังนี้ประกันจะจ่ายเงินให้เจ้าของรถ จากนั้นจะนำรถคันนั้นไปขายต่อให้กับร้านค้าหรือบริษัทที่รับซื้อซากรถ รับซื้อรถอุบัติเหตุเพื่อนำไปซ่อมแซมแล้วย้อมแมวขายใหม่อีกครั้ง ดังนั้นรถเชื่อต่อจึงเป็นรถที่มาจากคนละคัน

แต่รถประเภทนี้ จะสังเกตได้ง่ายหากช่างฝีมือไม่ดีพอ แค่ยืนมองไกล ๆ ก็สามารถสังเกตเห็นทรงรถที่เสียไป ดังนั้นเล่ห์ของเต็นท์รถจึงไม่เอาออกมาจอดขายหน้าเต็นท์ แต่จะปลอมเป็นรถบ้านขับไปขับมาให้ฝุ่นจับเพื่อพรางรถและอ้างว่าเป็นรถบ้านฝากมาขายและยังไม่ได้ทำความสะอาด จนทำให้คนซื้อคิดว่าเป็นรถบ้านจริง ๆ จึงตกเป็นเหยื่อไปก็มาก จึงควรระวังเอาไว้ให้ดีเพราะจะดูยากและดูเหมือนรถใหม่ และไม่เป็นมงคลกับผู้ซื้ออย่างแน่นอน เพราะบางทีอาจมีแถมผีมาให้ด้วยนะ แต่คนเรานี่แย่กว่าผีจริง ๆ นะ

สังเกตระยะห่าง ช่องไฟ ส่วนประกอบต่าง ๆ ที่รวมกันเป็นตัวรถ
เป็นการตรวจสอบว่า รถมีการชนมาแล้วหรือไม่ ชนหนักหรือน้อย เพราะรถที่ผ่านการชนมาแล้ว รอยต่อ ระยะห่าง หรือช่องไฟของรถจะผิดเพี้ยน เกิดเส้นไม่เท่ากัน เพราะไม่มีทางเป็นไปได้ และไม่มีช่างมือเทวดาคนใด ที่จะเคาะ ปะ ผุ หรือโป๊วสีให้รถกลับคืนดังเดิมได้เหมือนรถใหม่ หรืออย่างดีที่สุดก็ทำได้แค่ใกล้เคียงกับก่อนจะเกิดอุบัติเหตุมากที่สุดเท่านั้น

เหมือนกับการที่คุณถอดหน้ากากโทรศัพท์มือถือที่ตกแตก ออกมาซ่อมแล้วประกอบกลับไปดังเดิม ก็ไม่มีทางที่จะประกอบติดได้อย่างเรียบร้อยเหมือนก่อนทำตก ซึ่งจะเกิดช่องว่างหรือเส้นสายโครงสร้างของโทรศัพท์ที่ผิดเพี้ยนไปนั่นเอง ซึ่งเรื่องเหล่านี้ยากกว่าการสังเกตว่าสภาพภายในรถ พรม เบาะ ผ่านการฟอกทำความสะอาด กำจัดกลิ่นหรือไม่ เพราะตะเข็บตามเบาะต่าง ๆ ไม่ปริแตก

จึงจำเป็นต้องใช้สายตาสังเกตให้ดี ๆ ด้วยวิธีการเปรียบเทียบด้านซ้าย-ขวา  ล่าง-บน หรือระยะห่างที่เหมาะสม หรือเท่ากัน ระหว่างการเชื่อมต่อของส่วนประกอบว่าช่องว่างเป็นธรรมชาติหรือผิดปกติ ถ้าแตกต่างอย่างชัดเจน หรือคล้ายประกบกันไม่ติดเหมือนดังที่ยกตัวอย่างเรื่องโทรศัพท์มือถือ ก็แสดงว่าอาจจะผ่านการซ่อมเพราะเกิดอุบัติเหตุมาแล้ว โดยวิธีการต่อไปนี้ พิสูจน์มาแล้วได้ผลชัดเจน

เริ่มด้วยการเปรียบเทียบช่องไฟซ้ายขวา หรือระยะห่าง เป็นอย่างไร ผิดปกติหรือไม่ จากนั้นพิจารณาในส่วนอื่น ๆ เช่น
-            ช่องไฟต่าง ๆ ระยะห่างของกันชนกับไฟหน้า หน้ากาก ฝากระโปรง ขอบสันฝากระโปรง กันชนต้องไม่บิดเบี้ยว ในส่วนนี้ดูไม่ยากเพราะกันชนรถและบังโคลนรถส่วนมากไม่ใช่โลหะ จึงยากที่จะปกปิดร่องรอย
-            ริ้วรอยตามมุมซ้าย ขวา ด้านหน้ารถบริเวณมุมไฟทั้ง 2 ด้าน ก็ต้องมีบ้างเป็นเรื่องปกติ ที่จะมีการเฉี่ยวชนเล็ก ๆ น้อย หรือมีรอยขีดข่วน ไม่ต้องเครียดเกินไป แต่ถ้าหากมีช่องว่างตรงมุมซ้าย-ขวา ที่เทียบด้วยตาแล้วเห็นว่าผิดปกติ ด้านหนึ่งต่างจากอีกด้านหนึ่ง ด้านหนึ่งเข้าที่ แต่อีกด้านไม่เข้าที่ หรือไม่สามารถประกอบให้สนิทได้ แสดงว่าอาจจะผ่านการชนมาแล้ว
-            ระยะห่างของฝากระโปรงและขอบบังโคลนส่วนมากระยะห่างจะอยู่ประมาณ 4-6 มิลลิเมตรโดยเฉลี่ย ซึ่งระยะห่างควรเท่ากันตลอด หากระยะห่างคลาดเคลื่อนเล็กน้อยทุกด้าน อาจจะเป็นได้ว่าเคยถอดฝากระโปรงมาพ่นหรือถอดเพื่อยกเครื่อง
-            ระยะห่างของประตูหน้าและประตูหลัง ต้องสังเกตคิ้วประตูว่าติดมาตรงได้ระดับหรือไม่ หากติดเบี้ยว แสดงว่าอาจเคยเคาะหรือทำสีมาแล้ว
-            ประตูต้องไม่มีรอยงัดแงะ เพราะถ้ามีอาจถูแกะออกไปเพื่อทำสี
-            เสาหลังต้องได้รูป โค้งได้รูป
-            ขอบกระจก ขอบยางต้องแนบสนิท
-            ดูช่องว่าง ระยะห่าง และการปิดฝากระโปรงหน้าและหลังว่า ลงตรงช่องหรือลงตัวหรือไม่ ด้วยการดูน๊อตที่ใช้ว่าสีเดียวกัน เบอร์เดียวกันหรือไม่ เพราะหารถที่ไม่เกิดอุบัติเหตุไม่ผ่านการแก้ไขดัดแปลง หรือไม่เคยประสบอุบัติเหตุตรงส่วนนั้น น๊อตจะไม่แตกต่างกัน มีลักษณะสีขนาดและเบอร์เดียวกัน
-            ในส่วนของที่เก็บยางอะไหล่ซึ่งรถส่วนมากจะเก็บยางอะไหล่เอาไว้ในหลุมที่ทำเอาไว้เป็นบล็อกเฉพาะเพื่อเก็บยางอะไหล่ ลองสังเกตดูว่ามีรอยบุบบู้บี้หรือไม่ เพราะรถที่โดนชนจากด้านหลังหรือประสบอุบัติเหตุจากด้านหลังแรง ๆ จะต้องทำการเคาะ ปะ ผุ ให้กลับคืนสภาพเดิมแต่ช่างส่วนใหญ่ ไม่ค่อยใส่ใจในส่วนของที่เก็บยางอะไหล่ เพราะนึกไม่ถึงว่าเจ้าของรถที่ซ่อม จะละเอียดถึงกับขนาดดูความเรียบร้อยของงานในบริเวณที่เก็บยางอะไหล่ จึงทำให้คนที่ซื้อรถมือสองพลาดไปในส่วนนี้ก็เยอะและมาช้ำใจในภายหลังว่าเสียรู้

บทความรถยนต์ที่เกี่ยวข้อง

บทความรถยนต์ที่น่าสนใจ